พรมมิ

พรมมิกับฤทธิ์ในการช่วยเพิ่มความจำ พรมมิเป็นสมุนไพรไทยที่หาพบได้ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง ปัจจุบันได้มีการศึกษาค้นคว้าจนพบว่า พรมมิ เป็นสมุนไพรที่สามารถช่วยบำรุงสมอง ป้องโรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bacopa monnieri (L.) Wettst.4
ชื่อวงศ์           Plantaginaceae3
ชื่อไทย            พรมมิ1
ชื่ออื่น ๆ          ผักมิ1
ชื่อภาษาอังกฤษ Bacopa, Moneywort, Water hyssop2,3
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์และพฤกษเคมีที่เกี่ยวข้อง
          ไม้ล้มลุก ลำต้นเลื้อยแผ่ แตกกิ่งก้านมาก งอกรากที่ข้อ สูง 10-40 ซม. ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปซ้อนหรือรูปไข่กลับ กว้าง 1-5 มม. ยาว 6-20 มม. ปลายใบมน ขอบใบเรียบ ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ กลีบดอกรูปขอบขนานแกมไข่กลับ สีขาวหรือสีม่วงอ่อน ยาว 8-10 มม. ใบประดับรูปดาบ ยาว 2-3 มม. ผลแห้งแตกได้ รูปไข่ กว้าง 3 มม. ยาว 5 มม.5
          องค์ประกอบทางเคมีของพืชในพรมมิเป็นสารจำพวกกลุ่มของ triterpenoid saponins ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ jujubogenin และ pseudojujubogenin และสารจำพวก aglycones อาทิ Bacoside A1-3, Bacopasaponin A-G สารจำพวกกลุ่ม saponin ที่ถือว่าเป็นสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ Bacoside A และ Bacoside B6,7
การใช้ประโยชน์
ตำรายาไทย5 กล่าวสรรพคุณพรมมิ ดังนี้ ต้น ขับโลหิต ขับพิษร้อนทั้งปวง ใบ ขับเสมหะ ดับพิษไข้หัว แก้พิษฝีดาษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ดอก แก้โลหิตระดูใสดังสีน้ำล้างหมาก แก่น บำรุงไขมันในร่างกาย บำรุงกำลังทำให้ร่างกายแข็งแรง บำรุงไขข้อ แก้ปวดตามข้อ เปลือกต้น บำรุงไขมัน บำรุงตับ ทั้งต้น ดับพิษไข้หัว แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับพิษร้อนทั้งปวง แก้ไข้ ขับปัสสาวะ บำรุงประสาท ขับเสมหะ ขับพยาธิ บำรุงหัวใจ แก้หืด แก้ปวดประสาท แก้ลมบ้าหมู รักษาริดสีดวง
งานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้อง
กลไกของพรมมิที่มีผลต่อฤทธิ์ทางระบบประสาท (Neurological effects) กลไกของพรมมิต่อฤทธิ์ทางระบบประสาทปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะมาจากการรวมกันระหว่าง cholinergic modulation และฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพสูง (potent antioxidant effects) ของพรมมิ ทั้งนี้ฤทธิ์ในการคลายกังวลของพรมมิ (anxiolytic effects) ก็ไม่สามารถอธิบายกลไกได้แน่ชัดเช่นเดียวกัน แต่เชื่อว่าสารสำคัญในพรมมินั้นมีผลกระตุ้นระดับ serotonin ให้เพิ่มขึ้น2,8,9,10
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
          นอกเหนือจากงานวิจัยเพื่อดูผลฤทธิ์เภสัชวิทยาและงานวิจัยทางคลินิกแล้ว มีการนำพรมมิมาทดสอบความเป็นพิษ เพื่อค้นหาความปลอดภัยจากการใช้สมุนไพรดังกล่าว พบว่าขนาดรับประทานที่ทำให้หนูทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด (LD50) อยู่ที่ 2,400 mg/kg และไม่พบความเป็นพิษในระยะเฉียบพลัน (Acute toxicity study) ในเวลา 48 ชั่วโมง และเมื่อทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง (subchronic oral toxicity study) โดยให้หนูทดลองได้รับพรมมิขนาด 85, 210 และ 500 mg/kg ตามลำดับ ทางการรับประทานเป็นเวลา 90 วัน ไม่พบความแตกต่างด้านความเป็นพิษทางด้านคลินิก ระบบประสาท การบริโภคอาหาร น้ำหนักตัว เลือดรวมถึงผลทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่ม control นอกจากนี้ยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์เมื่อหนูทดลองบริโภคขนาด 500 mg/kg11
 
 
เอกสารอ้างอิง
 
1. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ความหลากหลายทางชีวภาพ พืชสมุนไพร ในประเทศไทย เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท เอกพิมพ์ไท จำกัด, 2558. 319 หน้า.
 
2. Therapeutic Research Center. Bacopa [Internet]. [cite 2018 Aug 1]; [Update : 2017 Jan 11]; Available from:  https://naturalmedicines.therapeuticresearch.com/databases/food,-herbs-supplements/professional.aspx?productid=761
3. Health Canada. Bacopa monnieri [Internet]. [cite 2018 Aug 1]; [Update : 2017 July 6]; Available from: http://webprod.hc-sc.gc.ca/nhpid-bdipsn/atReq.do?atid=fonc.cognitive.func&lang=eng
 
4. The Plant List. Bacopa monnieri (L.) Wettst. [cite 2018 Aug 1]; Available from: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/kew-2667648
 
5. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ. สมุนไพร ไม้พื้นบ้าน เล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2542. 823 หน้า.
 
6. Deepak M, Amit A. The need for establishing identities of ‘bacoside A and B’, the putative major bioactive saponins of Indian medicinal plant Bacopa monnieri. Phytomedicine 2004; 11: 264–8.
 
7. MURTHY PBS, Raja VR, Ramakrisana T, Chakravarthy MR, Kumar KV, Kannababu S, Subbaraju GV. Estimation of Twelve Bacopa Saponins in Bacopa monnieri Extracts and Formulations by High-Performance Liquid Chromatography. Chem Pharm Bull. 2006; 54(6) 907—11.
 
8. Stough C, Lloyd J, Clarke J, et al. The chronic effects of an extract of Bacopa monniera (Brahmi) on cognitive function in healthy human subjects. Psychopharmacology 2001; 156:481-4.
 
9. Ganguly, DK, Malhotra CL. Some behavioural effects of an active fraction from Herpestis monniera, Linn. (Brahmi). Indian J Med Res 1967;55(5):473-482.
 
10. Russo A, Izzo AA, Borrelli F, Renis M, Vanella, A. Free radical scavenging capacity and protective effect of Bacopa monniera L. on DNA damage. Phytother.Res. 2003; 17(8):870-875.
 
11. Allan JJ, Damodaran A, Deshmukh NS, Goudar KS, Amit A. Safety evaluation of a standardized phytochemical composition extracted from Bacopa monnieri in Sprague–Dawley rats. Food and Chemical Toxicology. 2007; 45: 1928–37.
 
 

  • Noni_fruit_(Morinda_citrifolia).jpg
    ลูกยอ ยอ จัดเป็นพืชให้ผลที่นิยมนำผลหรือใบมาใช้เป็นอาหาร และยาสมุนไพรมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมหลายชนิดชื่อวิทยาศาสตร์Morinda citrifoliaL.1 ชื่อวง...

  • ฟ้าทะลายโจร.jpg
    เกริ่นนำฟ้าทะลายมีถิ่นกำเนิดในอินเดียศรีลังกาและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียใต้ ใบและลำต้นอยู่ใต้ดินจะใช้เพื่อให้ยา ฟ้าทะลายมักจะถูกใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ (ไข้หวั...

  • ขมิ้นชัน1.jpg
    ขมิ้นชัน(KHAMIN CHAN) Rhizoma Curcumae Longae Turmeric ขมิ้นชันเป็นเหง้าแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าCurcuma longaL.ในวงศ์Zingiberaceae ชื่อพ้องAmomum curcumaJacq.,Curcuma dome...

  • มะระขี้นก.jpg
    มะระขี้นก เป็นผักพื้นบ้านของไทย ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจนิยมบริโภคผลและยอดอ่อน มีรสขม พบทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย เป็นพืชที่ปลูกง่าย ชอบอากาศร้อน ในทางโภชนาการเป็นผักที่มีคุณค่าทาง...

  • กระเจี๊ยบแดง.jpg
    กระเจี๊ยบแดง สมุนไพรสีแดง รสเปรี้ยวชนิดนี้ นับเป็นหนึ่งในสมุนไพรพื้นบ้านที่มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ในงานสาธารณสุขมูลฐานจึงจัดกระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรประจำบ้านที่ใช้ง่ายและมีค...

  • ใบหม่อน.jpg
    ใบหม่อนชื่อวิทยาศาสตร์Morus albaL..1 ชื่อวงศ์ Moraceae1 ชื่อไทย หม่อน1 ชื่ออื่น ๆ มอน ซึงเฮียะ ซึงเอียะ2 ชื่อภาษาอังกฤษwhite mulberry, Mulberry tree1ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่ม ล...

  • ว่านห่างจระเข้.jpg
    เกริ่นนำ ว่านหางจระเข้(มักเรียกว่าว่านหางจระเข้) ผลิตสารทั้งสอง เจลและน้ำยางที่ใช้สำหรับยาเสพติดว่านหางจระเข้เจลเป็นสารที่โปร่งใสเช่นเจลาตินที่พบในเยื่อใบพืชว่านหางจระเข้ ว่านหางจร...

  • ชะพลู.jpg
    ชะพลูเป็นผักพื้นบ้าน คนไทยที่มักนิยมรับประทานสด เช่น การรับประทานทานคู่กับเมี่ยงคำ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพระเทศไทย มีความเชื่อกันอีกว่าใบชะพลูมีสรรพคุณในการแก้พิษหอยได้จึงนิยม...

  • กระเทียม.jpg
    กระเทียมเป็นพืชที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีลักษณะคล้ายกับหัวหอม คาดว่ากระเทียมมีต้นกำเนิดจากประเทศไซบีเรียเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน ชื่อวิทยาศาสตร์Allium sativumL.1 ชื่อวงศ์ Alliace...

  • Gymnanthemum_extensum.jpg
    ข้อเท็จจริง หนานเฉาเหว่ย เป็นสมุนไพรที่มีรสขมเย็น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าVernonia amygdalinaDelile วงศ์ Asteraceae พบว่ามีการใช้ในการแพทย์พื้นบ้านทั่วไปทั้งในทวีปแอฟริกา อเมริกา จี...

  • บัวบก.jpg
    เกริ่นนำ บัวบกเป็นที่นิยมใช้ในการแพทย์แผนจีนและโรงงานยาอายุรเวท ใช้ในการทำยาบัวบกใช้ในการรักษาไวรัสแบคทีเรียหรือพยาธิติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะโรคงูสวัด โรคเรื้อน อหิว...

  • มะขามป้อม.jpg
    มะขามป้อม(MAKHAM POM) Fructus Phyllanthi Emblicae Emblic Myrobalan มะขามป้อมเป็นผลแก่จัดและแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าPhyllanthus emblicaL. ในวงศ์ Euphorbiaceae ชื่อพ้อง Em...
Visitors: 54,412